โวหารภาพพจน์ในวรรณคดีไทย
ความหมายของโวหารภาพพจน์
โวหาร คือ การใช้ถ้อยคำอย่างมีชั้นเชิง เป็นการแสดงข้อความออกมาในทำนองต่างๆ เพื่อให้ข้อความได้เนื้อความดีมีความหมายแจ่มแจ้ง เหมาะสมน่าฟัง ในการเขียนเรื่องราวอาจใช้โวหารต่างๆกันแล้วแต่ชนิดของข้อความ (สมถวิล วิเศษสมบัติ. ๒๕๔๔ : ๑๒๙)
โวหารภาพพจน์ คือ กลวิธีการนำเสนอสารโดยการพลิกแพลงภาษาที่ใช้พูด หรือเขียนให้แปลกออกไปจากภาษาตามตัวอักษรทำให้ผู้อ่านเกิดภาพในใจ เกิดความประทับใจเกิดความรู้สึกสะเทือนใจ เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างชัดเจน
ประเภทของโวหารภาพพจน์
1. อุปมาโวหาร (Simile) อุปมา คือ การเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับสิ่งหนึ่งโดยใช้คำเชื่อมที่มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “ เหมือน ” เช่น ดุจ ดั่ง ราว ราวกับ เปรียบ ประดุจ เฉก เล่ห์ ปาน ประหนึ่ง เพียง เพี้ยง พ่าง ปูน ถนัด ละหม้าย เสมอ กล อย่าง ฯลฯ ตัวอย่างเช่น
สูงระหงทรงเพรียวเรียวลูด งามละม้ายคล้ายอูฐกะหลาป๋า
พิศแต่หัวจรดเท้าขาวแต่ตา สองแก้มกัลยาดังลูกยอ
คิ้วก่งดังก่งเขาดีดฝ้าย จมูกละม้ายคล้ายพร้าขอ
หูกลวงดวงพักตร์หักงอ ลำคอโตตันสั้นกลม
สองเต้าห้อยตุงดังถุงตะเคียว โคนเหี่ยวแห้งรวบเหมือนบวบต้ม
เสวยสลายาจุกพระโอษฐ์อม มันน่าเชยน่าชมนางเทวี
2. อุปลักษณ์ ( Metaphor ) อุปลักษณ์ก็คล้ายกับอุปมาโวหารคือเป็นการเปรียบเทียบเหมือนกัน แต่เป็นการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง การเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง มักจะมีคำเป็น คือ มี ๓ ลักษณะ
๑. ใช้คำกริยา เป็น คือ = เปรียบเป็น เช่น โทสะคือไฟ
๒. ใช้คำเปรียบเป็น เช่น ไฟโทสะ ดวงประทีปแห่งโลก ตกเหวรักจะดิ้นรนไปจนตาย
๓. แสดงการเปรียบเทียบโดยปริยาย เช่น มโหรีจากราวป่ามาเรื่อยรี่
อุปลักษณ์จะไม่กล่าวโดยตรงเหมือนอุปมา แต่ใช้วิธีกล่าวเป็นนัยให้เข้าใจเอาเอง ที่สำคัญอุปลักษณ์จะไม่มีคำเชื่อมเหมือนอุปมา ตัวอย่างเช่น
ขอเป็นเกือกทองรองบาทา ไปจนกว่าชีวันจะบรรลัย
ทหารเป็นรั้วของชาติ
เธอคือดอกฟ้าแต่ฉันนั้นคือหมาวัด
3. สัญลักษณ์ ( symbol ) สัญลักษณ์ เป็นการเรียกชื่อสิ่งๆหนึ่งโดยใช้คำอื่นมาแทน ไม่เรียกตรงๆ ส่วนใหญ่คำที่นำมาแทนจะเป็นคำที่เกิดจากการเปรียบเทียบและตีความซึ่งใช้กันมานานจนเป็นที่เข้าใจและรู้จักกันโดยทั่วไปทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้ประพันธ์ต้องการเปรียบเทียบเพื่อสร้างภาพพจน์หรือมิฉะนั้นก็อาจจะอยู่ในภาวะที่กล่าวโดยตรงไม่ได้ เพราะไม่สมควรจึงต้องใช้สัญลักษณ์แทน
ตัวอย่างเช่น เมฆหมอก แทน อุปสรรค
สีดำ แทน ความตาย ความชั่วร้าย
สีขาว แทน ความบริสุทธิ์
กุหลาบแดง แทน ความรัก
หงส์ แทน คนชั้นสูง
4. บุคลาธิษฐาน ( Personification ) บุคลาธิษฐาน หรือ บุคคลวัต บุคคลสมมติ คือการกล่าวถึงสิ่งต่างๆ ที่ไม่มีชีวิต ไม่มีความคิด ไม่มีวิญญาณ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ อิฐ ปูน หรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น ต้นไม้ สัตว ์ โดยให้สิ่งต่างๆเหล่านี้ แสดงกิริยาอาการและความรู้สึกได้เหมือนมนุษย์ ให้มีคุณลักษณะต่างๆ เหมือนสิ่งมีชีวิต ( บุคลาธิษฐาน มาจากคำว่า บุคคล + อธิษฐานหมายถึง อธิษฐานให้กลายเป็นบุคคล )
ตัวอย่างเช่น มองซิ..มองทะเล เห็นลมคลื่นเห่จูบหิน
บางครั้งมันบ้าบิ่น กระแทกหินดังครืนครืน
ทะเลไม่เคยหลับไหล ใครตอบได้ไหมไฉนจึงตื่น
บางครั้งยังสะอื้น ทะเลมันตื่นอยู่ร่ำไป
5. อธิพจน์ ( Hyperbole ) อติพจน์ หรือ อธิพจน์ คือโวหารที่กล่าวเกินความจริง เพื่อสร้างและเน้นความรู้สึกและอารมณ์ ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกที่ลึกซึ้ง ภาพพจน์ชนิดนี้นิยมใช้กันมากแม้ในภาษาพูดเพราะเป็นการกล่าวที่ทำให้เห็นภาพได้ง่ายและแสดงความรู้สึกของกวีได้อย่างชัดเจน
ตัวอย่างเช่น คิดถึงใจจะขาด
คอแห้งเป็นผง
ร้อนตับจะแตก
หนาวกระดูกจะหลุด
6. สัทพจน์ ( Onematoboeia ) สัทพจน์ หมายถึง ภาพพจน์ที่เลียนเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงดนตรี เสียงสัตว์ เสียงคลื่น เสียงลม เสียงฝนตก เสียงน้ำไหล ฯลฯ การใช้ภาพพจน์ประเภทนี้จะทำให้เหมือนได้ยินเสียงนั้นจริง ๆ
ตัวอย่างเช่น ลูกหมาร้องบ๊อก ๆ ๆ ลุกนกร้องจิ๊บๆๆ ลูกแมวร้องเหมียว ๆ ๆ
เปรี้ยง ๆ ดังเสียงฟ้าฟาด
ตะแลกแต๊กแต๊กตะแลกแต๊กแต๊ก กระเดื่องดังแทรกสำรวลสรวลสันต์
7. นามนัย ( Metonymy ) นามนัย คือ การใช้คำหรือวลีซึ่งบ่งลักษณะหรือคุณสมบัติของสิ่งใดสิ่งหนึ่งแทนอีกสิ่งหนึ่งคล้ายๆสัญลักษณ์แต่ต่างกันตรงที่นามนัยนั้นจะดึงเอาลักษณะบางส่วนของสิ่งหนึ่งมากล่าวให้หมายถึงส่วนทั้งหมด หรือใช้ชื่อส่วนประกอบสำคัญของสิ่งนั้นแทนสิ่งนั้นทั้งหมด
ตัวอย่างเช่น เมืองโอ่ง หมายถึง จังหวัดราชบุรี
เมืองย่าโม หมายถึง จังหวัดนครราชสีมา
ทีมเสือเหลือง หมายถึง ทีมมาเลเซีย
ทีมกังหันลม หมายถึง ทีมเนเธอร์แลนด์
8. ปรพากย์ ( Paradox ) ปฏิพากย์ หรือ ปรพากย์ คือการใช้ถ้อยคำที่มีความหมายตรงกันข้ามหรือขัดแย้งกันกล่าวอย่างกลมกลืนกันเพื่อเพิ่มความหมายให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น เลวบริสุทธิ์ บาปบริสุทธิ์
สวยเป็นบ้า สวยอย่างร้ายกาจ
สนุกฉิบหาย สวรรค์บนดิน
อ้างอิง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น